วิธีป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

องค์การบริหารส่วนตำบลวังอิทก ร่วมสนับสนุนการป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยมีบทความที่น่าสนใจ ดังนี้


เมื่อกล่าวถึงความรุนแรงต่อสตรี ภาพที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือเหตุการณ์การทำร้ายร่างกาย หรือการข่มขืน แต่ความจริงแล้วยังพบว่ามีรูปแบบการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ เช่น การใช้ความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์  การกระทำความรุนแรงด้วยวาจา รวมไปถึงการบังคับ กักขัง และหน่วงเหนี่ยว..



 ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล”สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนที่รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อมุ่งเน้นให้สังคมได้ตระหนักที่จะป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี ให้หมดสิ้นไป
         อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาพระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประมาณ 300 – 500 ข่าว โดยใน 1 ปีจะมีจำนวนผู้หญิงที่เข้ามาขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิประมาณ 200 ราย ซึ่งความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดในคู่รัก หรือสามีภรรยา และมักเกิดขึ้นกับประชาชนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี รองลงมาคือ 40-50 ปี และ 20-30 ปี  นอกจากนี้ปัจจุบันยังพบว่าวัยรุ่นอายุ 17-25 ปี ก็มีผลกระทบในเรื่องของความรุนแรงเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
        โดยในแต่ละช่วงวัยมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความหึงหวง การนอกใจ และขาดการพูดคุยกัน หรือหากมีการพูดคุยกัน ก็จะมีการใช้อารมณ์ ใช้วาจาที่ทำร้ายจิตใจร่วมด้วย จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายในที่สุด
          นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระตุ้นให้ฝ่ายชายขาดสติ ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย
        ทั้งนี้ ทางมูลนิธิได้จัดทำผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับตัวเองหรือจากเพื่อนหรือคนรู้จักพบว่า ร้อยละ 98.4 เกิดจากการนอกใจ เจ้าชู้ หรือคบหลายคน ร้อยละ 90.5 การใช้คำหยาบคาย ร้อยละ 75 การทำลายข้าวของ ตามด้วยร้อยละ 74 ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
        “ด้วยทัศนคติความเชื่อของสังคมไทยที่ปลูกฝังเรื่องของฝ่ายชายจะต้องมีอำนาจที่เหนือกว่าฝ่ายหญิง สังคมเองก็ถูกปลูกฝังให้มองว่าเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาของคู่รัก เป็นเรื่องส่วนตัวของสามีภรรยา ทำให้สตรีที่ถูกกระทำมักจะต้องอดทนอนกลั้น ไม่กล้าที่จะเล่าหรือปรึกษาคนรอบข้าง” อังคณา กล่าว
  “ส่วนสำคัญในการรณรงค์ในเรื่องของการยุติความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทย จึงควรมุ่งเน้นไปในทางการเปลี่ยนทัศนคติทำให้ สตรีที่ถูกระทำกล้าที่จะพูด บอกกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงที่ถูกกระทำต่อคนรอบข้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไม่ให้ก่อเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียชีวิต รวมถึงการปรับเปลี่ยนความคิดทัศนคติ ค่านิยม เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมให้คู่รัก หรือสามีภรรยามีความเคารพ ให้เกียรติ ยอมรับฟังความคิดเห็นต่อกัน จะเป็นรากฐานของความรักที่ยั่งยืนและครอบครัวที่มั่นคง”
       นอกจากนี้ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาพระหว่างเพศได้แนะนำ “5 ข้อควรปฏิบัติ  เพื่อป้องกันความรุนแรง” ได้แก่ 1. ตั้งสติ อย่าใช้อารมณ์ 2. ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง 3. หาทางเอาตัวเองออกจากพื้นที่เกิดเหตุ 4. แจ้งเหตุ ขอรับการช่วยเหลือโดยสามารถแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 และ 5. อย่าเก็บเรื่องไว้คนเดียว ขอคำปรึกษา หาตัวช่วย โดยสามารถขอคำปรึกษาและการช่วยเหลือมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ที่ 0-2513-2889
      “ในฐานะของหน่วยงานที่ทำงานช่วยเหลือรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี อยากให้ประชาชนไทยมองว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่เป็นปัญหาระดับสังคม ที่ผู้ถูกกระทำต้องกล้าที่จะพูดบอกกล่าวขอความช่วยเหลือ รวมถึงผู้พบเห็นที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ อาจจะเป็นการช่วยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหากเป็นญาติของผู้ถูกกระทำก็สามารถมารถเข้าไปเป็นตัวกลางในการช่วยไกล่เกลี่ยพูดคุยให้ลดความตึงเครียดในสถานการณ์ขณะนั้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกคนในสังคม สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะยุติความรุนแรงต่อสตรีไม่ให้เกิดขึ้นได้ ขอเพียงอย่ามองข้ามสิ่งที่พบเห็น” อังคณา กล่าวทิ้งท้าย
       แล้ววันนี้ คุณได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความรุนแรงต่อสตรีแล้วหรือยัง… 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความรู้ยาเสพติด

ซ่อมแซมถนนลาดยาง